บาดทะยัก

บาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียร้ายแรง ซึ่งสามารถติดเชื้อได้ผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้นตามร่างกาย โดยเชื้อบาดทะยักจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการเจ็บปวดและปวดเกร็งกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขากรรไกรและกล้ามเนื้อลำคอ ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อบาดทะยักอาจนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ด้วย

บาดทะยัก จะสร้างสารพิษขึ้นมาชนิดหนึ่งเรียกว่า toxin ซึ่งสารนี้มีผลต่อระบบประสาท และทำให้เกิดอาการชักขึ้นมานั่นเอง โดยปกติผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะแสดงอาการประมาณ 14 วันโดยเฉลี่ย

บาดทะยัก

อาการของบาดทะยัก

1. กล้ามเนื้อขากรรไกรหดเกร็ง ซึ่งอาจทำให้เจ็บปวดและอ้าปากลำบาก

2. กล้ามเนื้อบริเวณลำคอหดเกร็งจนเกิดอาการเจ็บปวด ส่งผลให้กลืนและหายใจลำบาก

3. กล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ เกิดอาการหดเกร็งตามมา เช่น หน้าอก ช่องท้อง และหลัง

4. ร่างกายกระตุกและเกิดความเจ็บปวดเป็นเวลานานหลายนาที ซึ่งมักเกิดจากสิ่งกระตุ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสียงดัง ลมพัด การถูกสัมผัสร่างกาย หรือการเผชิญกับแสง

สาเหตุของบาดทะยัก

-แผลไฟไหม้

– แผลจากการถูกสัตว์กัด เช่น สุนัข

– แผลถูกทิ่มจากตะปูหรือสิ่งของแหลมคม

– แผลถลอก รอยครูด หรือแผลจากการโดนบาด

– แผลที่เกิดจากกระดูกหักออกมาภายนอกผิวหนัง

– แผลติดเชื้อที่เท้าที่มักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

– แผลจากการเจาะหรือสักร่างกาย รวมถึงแผลจากการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก

– แผลติดเชื้อทางสายสะดือในทารก จากการใช้อุปกรณ์ทำคลอดที่ไม่สะอาดในการตัดสายสะดือ และอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อแม่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักอย่างครบถ้วน

ภาวะแทรกซ้อนของบาดทะยัก

– จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

– สมองเสียหายจากการขาดออกซิเจน

– เกิดการติดเชื้อที่ปอดจนเกิดปอดบวม

– กระดูกสันหลังและกระดูกส่วนอื่น ๆ หักจากกล้ามเนื้อที่เกร็งมากผิดปกติ

– ไม่สามารถหายใจได้ เนื่องจากการชักเกร็งของเส้นเสียงและกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ

– การติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการพักฟื้นหรือรักษาตัวจากโรคบาดทะยักในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน

การวินิจฉัยบาดทะยัก

แพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อสังเกตดูอาการของโรคบาดทะยัก เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อชักกระตุก รวมทั้งสอบถามถึงประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก หากพบว่าผู้ป่วยไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันหรือเคยได้รับแต่ไม่ครบถ้วน จะนับว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นอาการจากโรคบาดทะยักได้สูง

การรักษาโรคบาดทะยัก

– ให้ยา Tetanus Immunoglobulin และยาปฏิชีวนะ

– นำเนื้อเยื่อแผลที่ตายแล้วหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากบาดแผล

– ให้ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยและชักกระตุกของกล้ามเนื้อ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท

– ใช้เครื่องช่วยหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก

– ให้อาหารผ่านทางท้องหรือเส้นเลือดแทน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้

ที่มา

odpc9.ddc.moph.go.th

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ fredericksburgchorale.com